เสาเข็มสั้น (Friction Pile)
เสาเข็มคอนกรีตประเภทนี้ มีผลิตขายในหลายรูปร่าง เช่น รูปตัวที (T), รูปตัวไอ (I), รูปหกเหลี่ยมกลวง และรูปสี่เหลี่ยมตัน ขนาดหน้าตัดทั่วไป คือ 15×15 ซม. และ 18×18 ซม. ส่วนความยาวสามารถสั่งซื้อได้ตั้งแต่ 1-8 ม. ถ้าความยาวมากกว่านี้สัดส่วนจะไม่เหมาะสมและหักได้ง่าย
ความสามารถในการรับน้ำหนักของเสาเข็มสั้น ให้ใช้ค่าความฝืดหรือความเสียดทานของดินรอบเสาเข็ม ดังนี้
ดินที่อยู่ในระดับความลึกไม่เกิน 7 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ใช้ค่าแรงฝืดของดินไม่เกิน 600 กิโลกรัม/ตร.ม.
ดินที่อยู่ลึกกว่า 7 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ใช้ค่าแรงฝืดตามสมการ ดังนี้ หน่วยแรงฝืด = 600 + 220e (กิโลกรัม/ตร.ม.)
เสาเข็มยาว (Bearing Pile)
สามารถแบ่งตามชนิดการก่อสร้างได้ ดั้งนี้
เข็มตอกคอนกรีตอัดแรง (Prestress Concrete Pilling) คือ เสาเข็มคอนกรีตหล่อสำเร็จรูป เป็นเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงที่หล่อจากโรงงาน ผลิตโดยอาศัยเทคนิคการดึงลวดรับแรงดึง Pre-tension Method แล้วเทคอนกรีตลงในแบบหล่อ ในขณะที่แรงดึงในเส้นลวด (Tendon) ยังคงค้างอยู่ เมื่อคอนกรีตแข็งตัวจนได้กำลังอัดตามเกณฑ์แล้ว จึงตัดลวดรับแรงดึงออก โดยปกติการถ่ายกำลังจากลวดรับแรงดึงสู่คอนกรีต จะต้องใช้คอนกรีตที่มีกำลังอัดไม่ต่ำกว่า 250 กก./ตร.ซม. และเมื่อคอนกรีตอายุครบ 28 วัน คุณสมบัติของคอนกรีต เมื่อทดสอบด้วยรูปทรงลูกบาศก์ขนาด 15x15x15ซม. ต้องมีกำลังอัดประลัยไม่ต่ำกว่า 420 กก./ตร.ซม. เข็มประเภทนี้ เป็นเข็มที่ราคาประหยัด ทำงานได้รวดเร็ว เป็นที่นิยม และมีผู้ผลิตแพร่หลาย มีหน้าตัดต่าง ๆ กัน เช่น สี่เหลี่ยมตัน, รูปตัวไอ, รูปวงกลม
เสาเข็มเจาะ (Boring Pile)
เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เหมาะกับบ้านที่ก่อสร้างติดกัน หรือกรณีที่พื้นที่ทางเข้าแคบมาก รถใหญ่ไม่สามารถเข้าได้ มีแบบใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งขนาดเล็ก (Small Bored Pile) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 30 – 60 ซม. สามารถเจาะได้ลึกประมาณ 20 – 30 เมตร จึงเรียกเสาเข็มเจาะขนาดเล็กนี้ว่าเป็น ระบบแบบแห้ง (Dry Process) จะใช้เพื่อทดแทนเสาเข็มตอกคอนกรีตอัดแรง ส่วนขนาดใหญ่ (Large Bored Pile) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 60 ซม.ขึ้นไป สำหรับความลึกตั้งแต่ 25 – 60 ม. ใช้สำหรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น สะพานลอยฟ้า สะพานทางหลวง อาคารสูงมาก ฯลฯ เสาเข็มเจาะขนาดใหญ่นี้ จะมีทั้ง ระบบแบบเปียก และระบบแบบแห้ง สำหรับระบบแบบเปียกนั้น ใช้ในกรณีที่ชั้นดินมีน้ำใต้ดิน ซึ่งน้ำใต้ดินจะดันให้หลุมที่เจาะพังทลายได้ จึงต้องใส่น้ำผสมสารละลายเบนโทไนต์ (Bentonite) ลงไปในหลุมเจาะด้วย เพื่อทำหน้าที่ต้านทานน้ำใต้ดินและเคลือบผิวหลุมเจาะไม่ให้พัง ส่วนระบบแห้งนั้นจะใช้ในกรณีที่ชั้นดินไม่มีน้ำใต้ดิน และสภาพดินมีความหนาแน่น ไม่ทำให้หลุมที่เจาะพังได้โดยง่าย